สนค. ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งชุมชนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนโยบายรัฐบาลที่กำหนด
ให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 สนค. อยู่ระหว่างดำเนินการ “โครงการศึกษาแนวทางการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG” โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ
ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม มีกำหนดการลงพื้นที่พบปะสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเป้าหมาย 20 กลุ่ม ครอบคลุม
4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อหารือและสัมภาษณ์เชิงลึก สอบถามแนวทางการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค เป้าหมายการพัฒนา รวมทั้งความต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
โดยได้มีการลงพื้นที่ภาคเหนือ (จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และตาก) เพื่อพบปะหารือวิสาหกิจชุมชนเป้าหมายที่ดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดล BCG ซึ่งมีการนำทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม
ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยการลงพื้นที่ภาคเหนือได้พบกับวิสาหกิจชุมชน 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) วิสาหกิจชุมชนวาเบลล์ล่าซ์ จ.พิจิตร (สินค้า : เครื่องสำอางบำรุงผิวจากสารสกัดจากข้าว ลูกหว้า) (2) วิสาหกิจชุมชนแปรรูปเกษตรอินทรีย์บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก (สินค้า : เครื่องสำอางบำรุงผิวจากฟักข้าว โกโก้ รังไหม) (3) วิสาหกิจชุมชนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพ เพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า จ.พิษณุโลก (สินค้า : ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว จากส้มซ่า ธัญพืช และสมุนไพร) (4) วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก จ.ตาก (สินค้า : เครื่องดื่มสมุนไพร สมุนไพรแปรรูป เช่น ขมิ้น หัวปลี ขิง ลูกชัด กระชาย) และ (5) วิสาหกิจชุมชนโฮมฮักตาก จ.ตาก (สินค้า : ภาชนะจากกาบหมาก)
สำหรับการลงพื้นที่ภาคกลาง เมื่อวันที่ 15-17 มีนาคม 2566 (จังหวัดตราด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี) พบปะหารือวิสาหกิจชุมชนฯ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด
(บริการ : ท่องเที่ยวธรรมชาติ เชิงนิเวศ และที่พัก) 2) วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด (บริการ : ท่องเที่ยว
เชิงวัฒนธรรม) 3) วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวน้ำหอมบ้านกลางคลองตาปลั่ง จ.สมุทรสาคร (สินค้า : ผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าว)
4) วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ จ.สมุทรสงคราม (สินค้า : เครื่องดื่มชนิดผง จากกล้วยน้ำว้าเขียว และกล้วยแปรรูป) และ
5) วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี จ.ราชบุรี (สินค้า : กระเป๋าจากกาบกล้วยตานี) และภายในเดือนมีนาคมนี้ มีกำหนดลงพื้นที่เพื่อพบปะวิสาหกิจขุมชนเป้าหมายในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกด้วย
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนต้นแบบแล้ว ในช่วงปลายเดือนเมษายน สนค. มีกำหนดลงพื้นที่จัดกิจกรรมบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ 2 กลุ่ม (ภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการ รวมทั้ง
เปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ มาให้ความรู้
และแบ่งปันประสบการณ์การทำธุรกิจ เช่น การพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิต (Processing) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) การสร้างเรื่องราว (Storytelling) การสร้างแบรนด์ (Branding) การจัดทำระบบสต๊อกสินค้า (Stock)
การจัดทำบัญชี (Financing) การเจรจาการค้า และการจัดจำหน่ายโดยเฉพาะรูปแบบ E-commerce รวมถึงการทำตลาด
ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) ซึ่งทั้งหมดนี้ จะต้องคำนึงถึงการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
โดย สนค. จะมีการติดตามความคืบหน้าหลังการดำเนินกิจกรรมบ่มเพาะฯ และจะจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 จากนั้น จะถอดบทเรียนความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนต้นแบบภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน
ทั้งภาคการผลิตสินค้าและภาคบริการ เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG
และเผยแพร่ให้วิสาหกิจชุมชนใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจใช้ประโยชน์ต่อไป