กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เดินหน้าใช้ MIND มุ่งสู่ความสำเร็จครบทั้ง 4 มิติ อย่างยั่งยืน! จัดกิจกรรม “พลอยได้..พาสุข” จากแบบจำลองธุรกิจ สู่การปฏิบัติจริง สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ในการนำวัสดุพลอยได้จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าทำเป็นผลิตภัณฑ์ ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดกากอุตสาหกรรม สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มรายได้ ให้ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกัน
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สนองนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เดินหน้าใช้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน
จัดกิจกรรม “พลอยได้ พาสุข” ซึ่งเป็นโครงการจำลองธุรกิจที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ บุคคล ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำกากของเสีย หรือวัสดุพลอยได้จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าทำเป็นผลิตภัณฑ์ ตามหลักแนวคิด “การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน” กระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มรายได้ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับสังคมโดยรอบ ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกัน ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ “MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ที่มุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ คือ มิติธุรกิจ มิติชุมชนสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติการกระจายรายได้
นายจุลพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า “พลอยได้..พาสุข” เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศซึ่งครอบคลุม 54 พื้นที่ ใน 39 จังหวัด วิสาหกิจชุมชนที่สมัครเข้าแข่งขันและผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถให้พร้อมสำหรับรอบชิงชนะเลิศ ทั้งทางด้านแผนธุรกิจและการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากของเหลือใช้หรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ เป็นการกระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจสีเขียว
กิจกรรม “พลอยได้..พาสุข” มีทีมสมัครเข้าแข่งขันจำนวน 53 ทีม ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ 15 ทีม และผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 5 ทีม ผลการแข่งขันรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จังหวัดอุดรธานี ผลิตภัณฑ์สีจากธรรมชาติที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะอาทิ สีสกรีน สีย้อมผ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการนำผลพลอยได้และกากของเสียจากโรงงานน้ำตาล ได้แก่ กากชานอ้อย ที่ผ่านกระบวนการหีบเอาน้ำตาลอ้อยออกไปแล้วมาผ่านการหมัก ต้ม และผสมกับสีธรรมชาติ และน้ำยางพารา รวมถึงส่วนผสมอื่นๆ เพื่อให้ได้สีที่ปลอดภัย เหมาะสำหรับผู้ใช้ทุกช่วงวัย นอกจากนี้วัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตยังนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น กระดาษสา เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนและผู้สูงวัยในชุมชน และทีมมีแผนที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์สีทาบ้านออแกนิค เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของผู้พักอาศัย โดยหลังจากนี้ 6 เดือน กรอ. จะได้ติดตามความสำเร็จการนำแผนและโมเดลธุรกิจของทีมที่ได้รับรางวัลไปปฏิบัติ และจัดทำเป็นตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จ (Success Cases) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป
“กรอ. ยังคงให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมรูปแบบนี้ในอนาคต เพราะนอกจากผลิตภัณฑ์จากกากอุตสาหกรรมแล้ว ยังเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อปี การเพิ่มขึ้นของรายได้ในพื้นที่ 20% ต่อปี ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดกากอุตสาหกรรม 10 % ต่อปี ” นายจุลพงษ์ กล่าวปิดท้าย