“แน่ใจไหมว่าที่ซื้อเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์จริง” เป็นคำถามที่หลายคนไม่แน่ใจในคำตอบ
ขณะที่ตลาดสินค้าอินทรีย์ โดยเฉพาะ ข้าว ผัก ผลไม้ของโลก กำลังเติบโตสูงและเป็นเทรนด์ที่ตอกย้ำว่าทุกคนใส่ใจ เรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
หนึ่งในกุญแจสำคัญที่สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้คือ “การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์
ด้วยเทคโนโลยี Blockchain” ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยเข้าสู่ตลาดได้ มีความน่าเชื่อถือ
และมีโอกาสวางบนชั้นจำหน่ายสินค้าในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัย
และให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริเริ่มและผลักดันโครงการประยุกต์ใช้ Blockchain
ยกระดับเศรษฐกิจการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่องตลอด 4 ปี พัฒนาระบบต้นแบบ TRACETHAI.com
สำหรับใช้ตรวจสอบย้อนกลับที่มาและใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย โดยล่าสุดจัดงานสัมมนาโครงการฯ และกิจกรรม “Organic Day” ยกระดับขับเคลื่อน TRACETHAI.com ก้าวสู่เครือข่ายที่กว้างขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์มุ่งส่งเสริมการตลาดสินค้าออร์แกนิคให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกมาเป็นแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น โดย TRACETHAI.com จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อ เนื่องจากตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่การผลิต รวบรวม บรรจุ และจัดจำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยนำร่องสินค้าข้าวอินทรีย์ซึ่งมีศักยภาพส่งออกสูง และปัจจุบัน TRACETHAI.com ยังรองรับพืชอินทรีย์อื่น ๆ อาทิ ผัก ผลไม้ เห็ด โกโก้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบอินทรีย์
ปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ยกระดับการทำงานร่วมกับ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(ธ.ก.ส.) ในการเผยแพร่ความรู้และเชิญชวนให้ผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เข้าร่วมงานสัมมนาและอบรมทั่วประเทศ รวม 13 จังหวัด สร้างเครือข่ายผู้เข้าร่วม 468 คน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนา
ต่อยอดเครือข่ายผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ให้ยั่งยืนต่อไป
“กระแสตอบรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ของคนรักสุขภาพมีสูงขึ้นอย่างมาก แต่การผลิตสินค้า
ให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทั้งเกษตรกร รัฐ และเอกชน ซึ่งการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ผ่าน TRACETHAI.com จะช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย และได้รับการยอมรับในตลาดโลกมากขึ้นในอนาคต”
ด้าน นายนิมิตร ฆังคะจิตร พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี กล่าวเสริมว่า การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในแผนงานหลัก เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีเป็นเมืองอุตสาหกรรมและการค้ามีผู้ประกอบการสนใจธุรกิจสุขภาพจำนวนมาก เรามีเครือข่ายพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เครือข่ายร้านค้าประชารัฐ และทูตพาณิชย์ทั่วโลก พร้อมเป็นเซลล์แมนช่วยส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย
“สิ่งสำคัญคือเรื่องความเชื่อมั่น ดังนั้น การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วย Blockchain หรือ TRACETHAI.com จึงเป็นโครงการที่ทำให้ผู้ประกอบการขยายตลาดได้และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันส่งเสริมศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ซื้อในต่างประเทศ”
ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นและปรับปรุงใหม่เป็นระยะๆ ยกตัวอย่าง กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือ USDA (U.S. Department of Agriculture) ผู้ออกตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ได้ออกประกาศกฎระเบียบใหม่บังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 สาระสำคัญ คือ ให้มีการคุมเข้มการบันทึกข้อมูลและตรวจสอบย้อนกลับ
ตลอดกระบวนการ สอดคล้องกับผลการสำรวจผู้บริโภคสหรัฐฯ ร้อยละ 67 กังวล เรื่องความปลอดภัย
ต้องการทราบที่มาอาหาร และร้อยละ 64 ยินดีเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ที่ให้ข้อมูลสินค้าเชิงลึกมากขึ้นด้วย
ดังนั้น TRACETHAI.com ซึ่งออกแบบโดยเทคโนโลยี Blockchain ช่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผู้บริโภคสามารถใช้งานง่ายผ่านคิวอาร์โค้ด ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมยุ่งยาก ตอบโจทย์ผู้ผลิต
และผู้บริโภค 5 ด้าน คือ 1. ความต้องการด้านข้อมูลของผู้บริโภค 2. การควบคุมวัตถุดิบและกระบวนการผลิต
ให้มั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าอินทรีย์จริง 3. การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ 4. การสร้างความโปร่งใส ความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสาร หรืออ้างมาตรฐานใบรับรองเกษตรอินทรีย์
ที่ไม่ถูกต้อง และ 5. ความสอดคล้องกับกฎระเบียบการค้าของประเทศคู่ค้า
ในมุมมองของกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์และเครือข่ายผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์
ที่มาร่วมงาน Organic Day โดย “คุณนกยูง” กุลนธี ศุภรัตนชาติพันธ์ ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ เจ้าของกิจการกรีนลีฟวิ่งแคมป์ จังหวัดนครปฐม เล่าให้ฟังว่า ต้องใช้เวลาพัฒนาฟาร์มออร์แกนิคยาวนาน 14-15 ปี
เพราะมาตรฐานสากลมีเงื่อนไขมาก อีกทั้งปัจจัยการผลิตมีข้อห้ามใช้สารเคมี ผลิตภัณฑ์ไม่ใช้สารกันบูด
และระยะเวลาในการขออนุมัตินาน ดังนั้น การส่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีหน่วยงานที่สามมาช่วยรับรองคุณภาพ ดังนั้น การเข้าร่วมกับโครงการ TRACETHAI ตั้งแต่ยุคแรกจึงช่วยเปิดโอกาสในการส่งออกและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
“เมื่อผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ มีลูกค้าจากประเทศลักแซมเบิร์กและสวีเดนติดต่อมาซื้อสินค้าตรงจากฟาร์ม เราจึงเริ่มขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก ขึ้นทะเบียนผู้ค้าข้าว ได้รับมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ หลังจากนั้นลูกค้าอเมริกาเริ่มเข้ามาทางออนไลน์ การได้รับมาตรฐาน USDA ถือเป็นมาตรฐานสูง นำไปสู่มาตรฐานสากลทั้งตลาดอียู แคนาดา สิ่งสำคัญจากนี้คือต้องรักษาความเป็นออร์แกนิคให้ได้”
มุมมองของผู้ประกอบการอีกราย คุณอัญชลี หวานนุรักษ์ ประธานบริษัท PWK ELITE PERFECTION GROUP ผู้ส่งออกผักและผลไม้สด บอกว่า เป็นผู้ปลูกผักมาตรฐานปลอดภัยและส่งออกมากว่า 18 ปี
และมีเครือข่ายเกษตรกร 43 แปลง 120 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ราชบุรี นครปฐม ปทุมธานี เพชรบูรณ์ เชียงราย
และนครราชสีมา ตลาดหลักอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ มีความมั่นใจว่าประสบการณ์การทำเกษตรปลอดภัยมานาน
การยกระดับไปสู่เกษตรอินทรีย์ไม่น่าเป็นเรื่องยากเกินไป สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ องค์ความรู้ และระบบ
การบริหารจัดการ จึงพยายามหาเครือข่ายองค์ความรู้ เพื่อนำมาปรับใช้ เพื่อให้ผลผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ให้ได้
ด้วยแรงผลักดันเพื่อสุขภาพของผู้ปลูกทั้งตัวเธอเอง และเกษตรกรในเครือข่าย
ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ และนายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืน
บอกว่า การทำเกษตรอินทรีย์จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อเกษตรกร ผู้ปลูกเอง ซึ่งทุกคนรู้ดีว่ามีโรคมากมายจากการทำเกษตรสารเคมี เงินใคร ๆ ก็อยากได้ แต่เมื่อต้องเจ็บป่วยสุขภาพต้องมาก่อน เงินก็กลายเป็นเรื่องรอง ดังนั้นเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดของเกษตรกร
หลายปีที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนและร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เห็นตรงกัน
ให้เกษตรกรทั่วประเทศหันมาทำเกษตรอินทรีย์ จนปัจจุบันมีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 14,000 แปลงรวมแล้วประมาณแสนไร่ทั่วประเทศ
หลังจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยเราจะมีคณะทำงานตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม และคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) ประจำแต่ละจังหวัด มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ หากเครือข่ายต้องการส่งออกสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดได้เลย
ขณะที่ นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มั่นใจว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบ
ทางภูมิศาสตร์สามารถเป็นอันดับหนึ่งด้านการปลูกพืชอินทรีย์ของโลกได้ หลังจากนี้อยากเห็นสินค้าแปรรูปเพิ่มขึ้นและมีการรับรองมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าอินทรีย์นั้นมีผู้เกี่ยวข้องหลากหลาย อยากเห็นประเทศไทยมีเทศกาล ไทยแลนด์ ออร์แกนิค เฟสติวัล เหมือนประเทศเยอรมนี และมีเป้าหมายสุดท้ายคือเพิ่มการผลิตเกษตรอินทรีย์ได้อีก 10%
ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่า ระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain หรือ TRACETHAI.com เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย
ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ สอดคล้องกับแนวทางสร้างเกษตรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย
รักและห่วงใยสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง