นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ดำเนินการศึกษา “แนวทางพัฒนาศักยภาพการค้าสินค้าเกษตรมูลค่าสูง กรณีศึกษา กาแฟพิเศษ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูล ปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกร และผู้ประกอบการ และนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการค้าสินค้ากาแฟและกาแฟพิเศษ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรมูลค่าสูงตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย

กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เป็นกาแฟที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การเพาะปลูก การคัดสรรเมล็ดกาแฟ จนถึงการแปรรูป เพื่อให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพสูงและรสชาติดี อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่ากาแฟพิเศษให้มีราคาสูงกว่ากาแฟทั่วไป โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรี่ (Emory university) สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาราคากาแฟพิเศษคั่วแล้ว มีราคาเฉลี่ย ณ สิ้นสุด ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ที่ 28.64 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ โดยมีราคาต่ำสุดที่ 18.28 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ และราคาสูงสุดที่ 38.99 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคากาแฟคั่วเฉลี่ยของสหรัฐฯ ในปี 2563 (อ้างอิงข้อมูลจากองค์การกาแฟนานาชาติ (International Coffee Organization: ICO) อยู่ที่ 4.14 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ จะเห็นได้ว่า ราคากาแฟพิเศษคั่วเฉลี่ยสูงกว่าราคากาแฟทั่วไปคั่วเฉลี่ยถึงกว่า 5.9 เท่า แม้ว่าในปัจจุบัน ตลาดกาแฟพิเศษยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่ก็ถือเป็นทางเลือกในการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเกษตร และเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้ากาแฟของเกษตรกรไทย รวมทั้งกาแฟเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมีความต้องการสูง และตลาดสินค้ากาแฟมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ผลการศึกษาฯ ชี้โอกาสและข้อเสนอแนะ 8 ประการ ในการดึงศักยภาพกาแฟไทย ดังนี้ (1) อบรมให้ความรู้เกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพการผลิตเมล็ดกาแฟ รวมทั้งการทำการเกษตรที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (2) พัฒนาระบบการให้การรับรองคุณภาพกาแฟ เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพกาแฟไทย โดยการรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐาน (อาทิ มาตรฐานกาแฟ โดยสมาคมกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee Association) (3) วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กาแฟใหม่ ๆ
ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีการแปรรูป (4) ปรับใช้แนวคิด BCG Model ในอุตสาหกรรมกาแฟ เช่น พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน การเกษตรแบบลดคาร์บอน และห่วงโซ่อุปทานแบบหมุนเวียน (Circular Supply Chain)
(5) ส่งเสริมการสร้างแบรนด์กาแฟไทยให้เป็นที่รู้จัก (6) ควรตั้งศูนย์กลางในการแปรรูปและการกระจายกาแฟในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ (7) นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการผลิตกาแฟ เช่น ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ปรับปรุงการผลิตเพื่อผลิตกาแฟคุณภาพสูง ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลตรวจสอบการปลูกกาแฟ
เป็นต้น และ (8) ส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับกาแฟไทย เพื่อรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกาแฟแต่ละพื้นที่ และ
ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการตลาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการค้ากาแฟของโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) รายงานว่า ปีการผลิต 2565/66 โลกมีผลผลิตรวม 10.20 ล้านตัน (เป็นพันธุ์อาราบิก้า และโรบัสต้า 5.41 และ 4.79 ล้านตัน ตามลำดับ) และ
ในปีการผลิต 2566/67 (คาดการณ์ ณ มิถุนายน 2566) จะมีผลผลิตรวม 10.46 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกับปีก่อน)
(เป็นพันธุ์อาราบิก้า และโรบัสต้า 5.78 และ4.68 ล้านตัน ตามลำดับ) ผู้ผลิตกาแฟสำคัญของโลก ได้แก่ เวียดนาม บราซิล และอินโดนีเซีย สำหรับความต้องการใช้ ในปีการผลิต 2565/66 และ 2566/67 โลกมีความต้องการเมล็ดกาแฟ 10.10 และ 10.21 ล้านตัน ตามลำดับ ประเทศที่มีความต้องการมากที่สุด คือ สหภาพยุโรป รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ บราซิล ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์