ความนิยมใช้รถยนต์ EV ของคนไทยมีเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 มีการจดทะเบียนรถยนต์ EV รวมกว่า 32,450 คัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าสัดส่วนรถยนต์ EV ของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 ภายในปี 2573 แม้การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ EV จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นยังหมายถึง รถยนต์สันดาปจะถูกแทนที่ และเลิกใช้งานเป็นจำนวนมากด้วย ทั้งนี้ ในปี 2565 มีรถยนต์ถูกเลิกใช้งานจำนวนกว่า 2.7 แสนคัน ขณะเดียวกันรถยนต์ที่ใช้งาน อยู่ในปัจจุบันยังมีอายุมากกว่า 20 ปี จำนวนกว่า 5 ล้านคัน ทำให้ในอนาคตจะมีรถที่เลิกใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสม เนื่องจากส่วนประกอบของรถยนต์มีทั้งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดโทษ
โดยร้อยละ 75 ของส่วนประกอบรถยนต์สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (remanufacturing) และบางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recycling) ได้ ขณะที่ส่วนประกอบอีกร้อยละ 25 เป็นของเสียและเป็นอันตราย อาทิ สารทำความเย็น น้ำมันหล่อลื่น แบตเตอรี่ ซึ่งต้องการการกำจัดอย่างเหมาะสม ในขณะที่การจัดการซากรถยนต์ส่วนใหญ่ของไทยเป็นการจัดการที่ยังไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดการของเสีย ซึ่งมาจากกระบวนการถอดรื้อชิ้นส่วน/การจัดการของเสียอันตราย การแยกส่วนประกอบ โดยชิ้นส่วนที่ไม่มีมูลค่าจะถูกทิ้งเป็นขยะในชุมชนและถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการรีไซเคิลที่ไม่ถูกวิธีของโรงงานนอกระบบ ทำให้การจัดการของเสียอันตรายเป็นภาระที่ตกอยู่กับท้องถิ่น ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือข้อบังคับในการจัดการซากรถยนต์บนหลักการของการจัดการสิ่งแวดล้อม การเก็บรวบรวมรถยนต์ที่เลิกใช้งานแล้ว และการบำบัดของเสียอันตรายที่เกิดจากซากรถยนต์ ตลอดจนการมีบทลงโทษในกรณีการจัดการที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กับการออกกฎหมาย คือ 1) การส่งเสริมให้มีสถานประกอบการจัดการซากรถยนต์แบบครบวงจรและได้มาตรฐาน 2) ต้นทุนการซื้อรถยนต์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ผลิตผลักภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการซากรถยนต์ให้กับผู้บริโภค และ 3) การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตรถยนต์ การจดทะเบียนรถยนต์ รวมไปถึงการจัดการซากรถยนต์และของเสียอันตรายที่เกิดจากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)