กรณีที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ของยูเอ็น และ Copernicus Climate Change Service (ซี3เอส) ของสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า เดือนก.ค.ปี2566 เป็นเดือนที่อุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติโลก ขณะนี้ยุคของภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังจะเข้าสู่ยุคของ “โลกเดือด” และเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างไม่ลังเล และไม่รีรอที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ในมุมมองหอการค้าไทย ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Chain) และภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและอาหารของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากประเด็นดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร ผลผลิตในภาคการเกษตรของไทยที่เป็นรายได้สำคัญของประเทศ รวมถึงส่งผลต่อรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และรายรับจากการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต

โดยในส่วนของภาคเอกชนไทยหลายองค์กรตระหนักถึงปัญหาเป็นอย่างมาก จึงได้เริ่มมีการประกาศนโยบายที่จะขับเคลื่อนองค์กรเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว และต้องยอมรับว่าการตื่นตัวในประเด็นดังกล่าวยังอยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพ ดังนั้น หลายบริษัทในวันนี้ได้ช่วยขับเคลื่อนและขยายผลไปยังบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ใน supply chian ของธุรกิจตนเอง ด้วยการให้ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการเติบโตของกิจการ

อย่างไรก็ดีในเรื่องสภาพคล่องของภาคธุรกิจเพื่อปรับตัวสู่เศรษฐกิจ BCG เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ และเป็นสิ่งจำเป็น หากรัฐบาลสามารถออกมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการปรับตัวเข้าสู่ BCG หรือ ธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ต้องวางแผนและมีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งภาคธุรกิจพร้อมปรับตัวอยู่แล้ว หอการค้าฯ มองว่ารัฐบาลสามารถสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามความต้องการของภาคธุรกิจที่แตกต่างออกไปได้ดังนี้

1) ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว กลุ่มนี้คงต้องเข้าไปช่วยเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษี การจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG

2) ภาคธุรกิจขนาดกลาง ที่ต้องเข้าไปสนับสนุนทั้งในแง่แหล่งเงินทุน เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจแบบเดินสู่แนวทางที่คำนึงถึง BCG รวมถึงกองทุน หรือ แหล่งเงินทุน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

3) ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ทั้ง SME และ Micro SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากสุดของประเทศที่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่อง BCG ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ และหากรณีความสำเร็จ (Success Case) ที่จะเป็นโมเดลต้นแบบให้เดินตามได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการจูงใจให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากแหล่งเงินทุนที่รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน เพราะถือเป็นกลุ่มที่ยังไม่เข้มแข็งและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆให้สอดคล้องกับ BCG Model

ทั้งนี้ หอการค้าไทยยังมีแนวคิดทำโครงการพี่ช่วยน้องเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน ESG  โดยได้มีการจัดตั้งสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค (Circular Economy Academy for Entrepreneurs & Consumers) หรือ CE Academy เป็นหน่วยงานหลักในการเผยแพร่ความรู้และการฝึกอบรมให้กับสมาชิก และขยายผลไปยังหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ การตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มองค์ความรู้และเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Knowledge and Networking Platform) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และจัดหลักสูตรชุดกิจกรรมมุ่งประสบการณ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Coaching and Training Program)  เพื่อผลักดันให้เกิดการลงมือทำที่เกิดผลได้จริง

นอกจากนี้ หอการค้าฯ ยังได้มีการหารือเบื้องต้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย เอ็กซิมแบงก์ และธนาคารพาณิชย์ ถึงความร่วมมือในอนาคตอันใกล้ที่จะออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับ SMEs ที่ต้องการนำไปปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเข้าสู่ BCG Model โดย ธปท. ได้มีเผยแพร่มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ฉบับสมบูรณ์ เป็นกรอบแนวทางการให้สินเชื่อภาคธุรกิจที่คำนึ่งถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้นภาคเอกชนควรให้ความสำคัญไม่เฉพาะทำให้ภาคธุรกิจเกิดความยั่งยืนแต่ยังจะช่วยลดภาวะโลกร้อนนำไปสู่ความยั่งยืนอนาคต

ที่มา: สัมภาษณ์คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

ภาพจาก pixabay.com