สนค. เผยแนวโน้มผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้น ล่าสุดมีสมาชิก Codex 189 ประเทศ มีการออกฉลากเกี่ยวกับอาหารมากถึง 208 ฉลาก เป็นฉลากที่มีวัตถุประสงค์

ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากสุดถึง 44% ที่เหลือเป็นด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ล่าสุดอียูกำลังจัดทำข้อเสนอ

กรอบโครงสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน คาดมีผลต่อการส่งออกอาหารไทย แนะผู้ประกอบการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ

ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และภาครัฐควรส่งเสริมด้านงานวิจัย และช่วยพัฒนาเทคโนโลยี  

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และให้ความสำคัญ ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้บริโภคให้ความสนใจข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้น ซึ่งการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหาร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 31 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ทั้งหมด ทำให้ฉลากอาหารถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการปรับปรุงความยั่งยืนของระบบเกษตรและอาหาร และเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

ทำให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลว่าผู้ผลิตและเกษตรกรมีการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์การแสดงฉลากที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่หลากหลายและแตกต่างกัน

ในแต่ละสินค้าและกลุ่มประเทศ จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารของ FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission) ระบุว่า ฉลากที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่ได้รับแจ้งจากสมาชิก Codex (มี 189 สมาชิก ประกอบด้วย 188 ประเทศ และสหภาพยุโรป) มีจำนวน 208 ฉลาก โดยสามารถแบ่งฉลากอาหารที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) ฉลากที่ออกโดยรัฐบาลหรือฉลากสาธารณะ มีจำนวน 24 ฉลากเช่น Indonesian Ecolabel logo และ AsureQuality Organic mark (2) ฉลากของภาคเอกชน มีจำนวน 173 ฉลากเช่น Carbon Trust และ Red Tractor

(3) ฉลากร่วมของภาครัฐและเอกชน มีจำนวน 4 ฉลาก เช่น Enviroscore และ Alaska Responsible Fisheries Management และ (4) ฉลากอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ใน 3 กลุ่มแรก มีจำนวน 7 ฉลาก เช่น Sustain 2007 ทั้งนี้ หากแบ่งตามวัตถุประสงค์ จะเป็นฉลากที่มีวัตถุประสงค์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental & Social) รวมกันมากที่สุด

มีสัดส่วนร้อยละ 44 จากจำนวนฉลากทั้งหมด รองลงมา คือ ฉลากที่มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Only) และฉลากที่มีวัตถุประสงค์ด้านสังคม (Social Only) มีสัดส่วนร้อยละ 32 และ 24 ตามลำดับ

สหภาพยุโรป (EU) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินนโยบายการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร มียุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) โดยใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอกรอบโครงสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน (Framework for Sustainable Food Systems: FSFS) คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่สามของปี 2566 โดยข้อเสนอดังกล่าว หมายรวมถึงระบบการติดฉลากอาหารที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกอาหารจากไทยไป EU ในอนาคตได้

สำหรับข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจากไทยไปยังสหภาพยุโรป ในปี 2565 ไทยส่งออก มูลค่า 104,487.30 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีสัดส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดของไทย  สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไป EU อาทิ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อมูลการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป ในปี 2564 พบว่า EU มีการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากประเทศไทยเป็นปริมาณ 20,077 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 32.4 จากปีก่อนหน้า และคิดเป็นร้อยละ 0.7 ของปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดของสหภาพยุโรป โดยแหล่งนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของสหภาพยุโรป 5 อันดับแรก ได้แก่ เอกวาดอร์ โดมินิกัน อินเดีย เปรู และยูเครน มีสัดส่วนร้อยละ 12 9.2 7.2 7.1 และ 6.6 ตามลำดับ (ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ อันดับที่ 30 ของสหภาพยุโรป)

โดยสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดมาตรการด้านความยั่งยืนด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาและยกระดับสู่อุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาด EU อีกทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อมุ่งสู่สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย ควรมีการปรับเปลี่ยนแผนดำเนินการธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น สนับสนุนเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนสู่การทำเกษตรอินทรีย์ มีระบบการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน มีการปรับปรุงด้านสวัสดิภาพสัตว์ และพัฒนาอาหารใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ในด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งต้องมีการสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ด้วยความชัดเจน นอกจากนี้ หากนำฉลากอาหารด้านความยั่งยืนที่มีความน่าเชื่อถือมาใช้ จะช่วยให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจและเต็มใจที่จ่ายเงิน อีกทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ ที่ดีของธุรกิจ เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันทางค้า รวมทั้งลดอุปสรรคจากการกีดกันทางการค้าด้วย

ในส่วนของภาครัฐ ควรมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อาหารในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในการทำเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำเข้าเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดการใช้พลังงาน การพัฒนาวัสดุทดแทนที่มีความยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในการลดสิ่งสะสมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจน

การส่งเสริมให้มีฉลากความยั่งยืนแบบสมัครใจที่จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสามารถปรับตัวและพัฒนาการสร้างความยั่งยืนในระดับที่สูงขึ้นเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า