นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “1 ในภารกิจสำคัญหลังเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ การลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทุกกลุ่มทั้งส่วนกลางและภูมิภาค สอดคล้องเป้าประสงค์ของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์

ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลภาคธุรกิจเข้าถึงและเข้าใจความต้องการผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด ส่งผลถึงรูปแบบและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอย่างตรงจุด โดยให้ความสำคัญถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ หารือแนวปฏิบัติที่เห็นพ้องร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้การดำเนินงานเดินหน้าทิศทางเดียวกัน ทั้งการขยายช่องทางการตลาดให้ครอบคลุมและหลากหลาย ขจัดปัญหาอุปสรรคทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รวมทั้ง ขอความร่วมมือจ้างงานคนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส และสร้างความสมดุลธุรกิจผ่านการจ้างงานคนในชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดการหมุนเวียน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนระยะยาว

นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หารือแนวทางการส่งเสริมเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันแนวคิดธุรกิจแห่งความยั่งยืน (Business Sustainability) ได้รับความสนใจและถูกนำมายึดโยงกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมควบคู่กับผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงสู่การพัฒนาธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะมีระบบการบริหารจัดการกิจการที่ดี มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพแล้ว ต้องดำเนินการควบคู่กับการใส่ใจและคำนึงถึงส่วนรวม โดยผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ ยกระดับ และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสู่แผนแม่บทที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นทรงประสิทธิภาพ พร้อมสร้างความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจประเทศและภาคธุรกิจ

เบื้องต้น กรมฯ เตรียมบรรจุหัวข้อ ‘การประกอบธุรกิจด้วยความยั่งยืน’ ในทุกการอบรม/สัมมนาที่กรมฯ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะขอความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นวิทยากรและให้ความรู้ถึงแนวโน้มธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม/สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจและภาครัฐให้ความสำคัญ และเป็นแรงจูงใจหลักต่อการพิจารณาตัดสินใจร่วมลงทุนของคู่ค้าในอนาคต

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ (วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 25566) กำหนดตรวจเยี่ยมและพบปะผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ 2 จังหวัด คือ จ.สระบุรี * ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก (บริษัท เอกภาพซุปเปอร์ซัพพลาย จำกัด) และ * ธุรกิจชุมชนที่เป็น BCG (ผ้าย้อมมูลวัวนม มัดมอวาลู) และ จ.นครราชสีมา * ธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT (ครัวกำปั่นเขาใหญ่)

สาเหตุที่เลือก 3 กลุ่มธุรกิจข้างต้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่ในการส่งเสริมสนับสนุนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นธุรกิจเป้าหมายที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสามารถจ้างงานคนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในธุรกิจได้ ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ อีกทั้ง เป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถเข้ากระบวนการสร้างธุรกิจแห่งความยั่งยืนได้อย่างลงตัว โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่า มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ส่งผลให้พื้นที่เกิดการพัฒนา 4 ด้าน คือ * พัฒนาคนในท้องถิ่น * พัฒนาระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม * พัฒนาสังคมทำให้เกิดการตื่นตัวและพร้อมสนับสนุนธุรกิจสีเขียว และ * เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจแรกที่ตรวจเยี่ยม คือ บริษัท เอกภาพซุปเปอร์ซัพพลาย จำกัด เป็นธุรกิจค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ในจ.สระบุรี เป็นกิจการของคนไทย 100% และเป็นร้านค้าส่งที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีเครือข่ายที่เป็นร้านค้าปลีกและร้านโชห่วย ประมาณ 700 ร้านค้า ครอบคลุม จ.สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปทุมธานี ลพบุรี เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร จากการพูดคุยพบว่า ปัจจุบันร้านได้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้าและมีโลจิสติกส์อย่างเป็นระบบ บริหารจัดการแบบ FIFO (First in First out) โดยมีการรับ-ออกสินค้าด้วยระบบบาร์โคด และบันทึกเข้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีช่องทางการขายออนไลน์ และมีบริการส่งสินค้า การดำเนินงานอย่างเป็นระบบทำให้ธุรกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการสต็อกสินค้า/การขนส่ง รวมถึง มีการวางแผนกลยุทธ์ที่เน้นลูกค้าและตลาดเป็นสำคัญ ทำให้ลูกค้าที่เป็นร้านโชห่วยและประชาชนทั่วไปเกิดความพึงพอใจและกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านโชห่วยที่เป็นเครือข่าย ทำให้มีลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย ทำให้เข้าใจร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น

ธุรกิจที่ 2 ธุรกิจชุมชนที่เป็น BCG คือ ผ้าย้อมมูลวัวนม มัดมอวาลู เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น TOP 100 DBD SMART Local และ DBD SMART Local BCG ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกรมฯ ได้เชื่อมโยงและเจรจาจับคู่ธุรกิจกับบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด พร้อมนำผลิตภัณฑ์ของมัดมอวาลูขึ้นจำหน่ายบน คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความสนใจทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ผ้าย้อมมูลวัวนม มัดมอวาลู เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนรักษ์โลกที่มีกระบวนการผลิตย้อมด้วยมูลวัวจากฟาร์มโคนม ด้วยแนวคิด zero waste สู่ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นนำวัสดุในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า เช่น ใบไม้ในชุมชนนำมาพิมพ์เป็นผ้าคอลเลกชั่นพิเศษ มีเพียง 1 ชิ้นเท่านั้น ใส่แล้วรักษ์โลก เป็นมิตรกับผู้สวมใส่ เป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้มูลวัวนมกลายเป็นวัตถุดิบย้อมผ้าฝ้ายจากธรรมชาติ ผสมผสานงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนอัตลักษณ์ จ.สระบุรี สร้างผลงานเสื้อผ้าในแนวเรียบง่าย (Minimalist) ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว

ธุรกิจที่ 3 ธุรกิจร้านอาหาร คือ ครัวกำปั่นเขาใหญ่ อ.ปากช่อง โดยเป็นร้านอาหารไทย 1 ใน 9 ร้าน ของ จ.นครราชสีมา ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการพบว่า ทางร้านภาคภูมิใจมากที่ได้รับตราการันตีคุณภาพร้านอาหารไทย ซึ่งที่ผ่านมาร้านให้ความสำคัญในการรักษามาตรฐานและเอกลักษณ์อาหารไทย ทั้งด้านรสชาติ การเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่มีคุณภาพ และการยกระดับคุณภาพงานบริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่เข้ามารับบริการจะได้สัมผัสรสชาติอาหารไทยแท้ พร้อมประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ตามเจตนารมณ์ของตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โดยเชื่อมั่นว่า การเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Thai SELECT จะเป็น Soft Power ที่สร้างความเข้มแข็งด้านการตลาด มีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคง และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้มากขึ้น โอกาสนี้ ได้มอบป้ายตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้แก่ทางร้านด้วย เพื่อเป็นเครื่องการันตีถึงความมีคุณภาพของร้านอาหารที่รักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย สร้างความเชื่อมั่นให้นักชิมทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นอย่างดี

โดยหลังจากที่ได้รับฟัง พูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว กรมฯ จะเร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค ความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจแต่ละพื้นที่อย่างครบวงจร โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันผลักดันผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยให้มีความเข้มแข็ง เปรียบเสมือน “การติดปีกให้ผู้ประกอบการและธุรกิจไทย” ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า ‘ธุรกิจท้องถิ่น’ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในพื้นที่ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งหากธุรกิจได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังแล้ว มั่นใจว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต้องมีความยั่งยืนอย่างแน่นอน” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย