นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มมูลค่า
พืชเกษตร เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร ได้รับนโยบายจาก นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับภาคเกษตรและอาหาร โดยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูงระดับพื้นที่ (Area-based) ร่วมกับ หอการค้าจังหวัด บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรแบบเดิมสู่การทำการเกษตรมูลค่าสูงให้ได้ 10% ซึ่งได้กำหนด 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี และพัทลุง

ทั้งนี้ ในปี 2566 หอการค้าไทย ได้ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาทและเพชรบูรณ์ ซึ่งได้เกิดความร่วมมือระดับพื้นที่อย่างชัดเจน อาทิ จังหวัดชัยนาท ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูงจังหวัดชัยนาท ซึ่งมีการยกระดับเกษตรมูลค่าสูง 3 ด้าน (พืช ประมง และปศุสัตว์) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างห้างค้าปลีกกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา ในการนำสินค้าเกษตรแปรรูป “กล้วยฮักมะขามและกล้วยบาร์บีคิว” ไปขายสร้างรายเพิ่มให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัด

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า หอการค้าไทยได้ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับ นางสาวอรอาภา โล่ห์วีระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านท่าเดื่อ ทั้งนี้ จากการประชุมฯ จังหวัดชัยภูมิได้คัดเลือกสินค้าเกษตรมูลค่าสูงของจังหวัดเป็น Product Champaign อาทิ อ้อยโรงงาน โคเนื้อเกรดพรีเมี่ยม ส้มโอทองดีบ้านแท่น กล้วยหอมทองหนองบัวแดง มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะขามศรีภักดี ถั่วเหลือง เพื่อมาสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเป็นสินค้าต้นแบบความร่วมมือในการยกระดับเกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมด้านการตลาดของสินค้าเกษตรให้ครอบคลุม ทุกมิติ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการ บูรณาการทำงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และ หอการค้าไทย ได้ร่วมพบปะกับกลุ่มเกษตรกร จากวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านท่าเดื่อ กลุ่มทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญ และกลุ่มผู้ปลูกข้าวปลอดสารเพื่อสุขภาพ ต.บ้านเม็ง ซึ่งมีสมาชิกรวม 178 ราย มีพื้นที่รวม กว่า 2,293 ไร่ ส่วนใหญ่ ทำการเพาะปลูกข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าว และพืชผักอินทรีย์อื่น ๆ อาทิ แตงโมออแกนิก พริกเกษตรสมบูรณ์ มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ฟักแฟง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชที่มีความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูงในครั้งนี้ หอการค้าไทย ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความยั่งยืนในภาคเกษตร หรือ Sustainable โดยได้รณรงค์ไม่เผาซังตอหรือเศษพืชทางการเกษตรเพื่อไม่ให้เกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในปัจจุบัน ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ร่วมกับ บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ด้วยการส่งเสริมความรู้ และสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเครื่องอัดฟาง โดยคาดว่าปี 2567 โครงการนี้จะช่วยลดคาร์บอน 2,654 ตันคาร์บอน เพิ่มรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน 20% ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร และสอดคล้องกับนโยบาย BCG เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ของกลุ่มมิตรผล ณ วิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสาร บ้าน กม.52 อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดภัย บ้านกุดหัวช้าง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งมุ่งสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการเข้าถึงโอกาส เช่น โอกาสในการศึกษาเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ รวมทั้ง โอกาสในกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งการสร้างพื้นฐานทางความคิด และเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อก้าวสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ด้วยแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การยกระดับเป็นชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง