นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอคคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” ในการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งสาระสำคัญในการกล่าวปาฐกถาเป็นเรื่องการปรับตัว และไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ภาครัฐเองก็ต้องทำเช่นกัน โดยการปรับตัวไม่ได้แค่ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เท่านั้น แต่ต้องปรับให้เข้ากับเทรนด์โลกด้วย เพราะทุกภาคมีส่วนในการปล่อยมลภาวะส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เห็นได้จากภัยน้ำท่วมในไทย พายุเฮอริเคน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
สิ่งที่ต้องทำให้เราปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลกคือ การลดคาร์บอนที่เกิดจากภาคพลังงาน เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero 2065 ซึ่งภาคอุตสหากรรมยังต้องใช้พลังงานฟอสซิล เพราะฉะนั้นในแผนพลังงานใหม่จึงวางไว้ให้การผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งไทยเน้นที่พลังงานจากแสงแดด แผน PDP ใหม่จึงต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การปรับตัวดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย นับว่าเป็นสิ่งท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในความเป็นจริงต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงนั้นถูก แต่ระบบการผลิตแพง และมีกฎระเบียบเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความยุ่งยากเป็นอุปสรรค ผมในฐานะเข้ามารับผิดชอบกระทรวงพลังงานจึงกำลังศึกษาและร่างกฎหมาย เพื่อทำอย่างไรให้เอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าได้เอง ง่าย เน้นให้สามารถผลิตในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำ เพื่อลดต้นทุนให้กับทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยภาคอุตสาหกรรมอาจจะค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องเผชิญอุปสรรคทางการค้า หากสินค้าไม่ได้ผลิตจากพลังงานสะอาดก็จะถูกข้อกีดกันจากประเทศผู้นำเข้า อาจไม่รับซื้อ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ต้องปรับตัวให้เข้ากับแผนพลังงานใหม่ แต่ต้องปรับตัวเข้ากับโลกด้วย ซึ่งในภาคปฏิบัติ ภาคอุตสาหกรรมต้องช่วยคิดวิธีแก้ไขและนำเสนอมากับทางภาครัฐ
ภารกิจของแผนพลังงานฉบับใหม่จะต้องไม่ใช่เป็นภาระ แต่เพื่อประเทศเดินหน้าสอดคล้องโลก อย่างไรก็ดี ทั้งหมดของแผนต่างๆ ไม่ได้สำคัญไปกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ ซึ่งภาครัฐพยายามดำเนินการให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานดำเนินการแผนพลังงานเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรม เพื่อประชาชน ซึ่งขณะนี้แผน PDP อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น หวังว่าท่านที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมจะได้ช่วยระดมความคิดช่วยมองให้สอดคล้องกัน
หรือพูดง่ายๆว่า ทำอย่างไรให้คาร์บอนลดลงจากภาคการผลิตและการใช้พลังงานก่อนจะเดินทางไปสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ และการจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจทุกฝ่าย เช่น ภาคอุตสาหกรรมทำอย่างไรให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง เพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำคัญต่อทุกภาคส่วน ภาระหน้าที่ของผมคือต้องสร้างความคล่องตัว ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมทั้งที่นำเข้าจากเมียนมา ผมมั่นใจว่าวันนี้วิทยากรที่มาร่วมสัมมนามีองค์ความรู้เพื่อจะเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมรับมือกับเทรนด์โลกได้อย่างทันท่วงที
“สิ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญและดำเนินการอยู่ คือ การนำแผนไปสู่การปฏิบัติด้วยการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมให้สามารถปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนก็สามารถประยุกต์แนวคิดดังกล่าวได้เช่นกัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยคาร์บอนจากดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการดูดกลับด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือการชดเชยคาร์บอน จัดการสภาวะปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่าน โดย “รื้อ” ระบบการผลิตการใช้พลังงานเก่าที่ล่าสมัยไร้ประสิทธิภาพออกไป ซึ่งจะเป็นการ “ลด” การใช้พลังงานของตนเองไปโดยอัตโนมัติ นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มีการผลิตที่ใช้พลังงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้นด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพพลังงานสูง “ปลด” พันธนาการจากการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกด้วยการผลิตพลังงานสะอาดใช้เอง ที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถกำหนดและควบคุมต้นทุนด้านพลังงานได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะต้นทุนด้านไฟฟ้าที่การผลิตไฟฟ้าของส่วนกลางต้องนำเข้าเชื้อเพลิง LNG จากต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนสูงและมีราคาผันผวนตามราคาตลาดโลก ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและกระทบต่อความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต้องมีแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถบริหารจัดการได้เองที่จะช่วยลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าได้ โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น เพื่อให้มีความทันสมัย ปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ลดขั้นตอนให้ผู้ประกอบการ และช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของตนเอง นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถ “สร้าง” มูลค่าเพิ่มให้กับของเสียน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของตนเองต่อยอดสู่การผลิตเป็นพลังงานทดแทนสำหรับนำกลับมาใช้เอง “สร้าง” ระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของตนเองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งเป็นรถไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” นายพีระพันธุ์ กล่าว