กรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อน BCG Model สู่เกษตรมูลค่าสูง เพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำการเกษตร โดยวิสาหกิจชุมชนโฮมฮักตาก ผลิตภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย “กาบหมาก” ลดการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำการเกษตรด้วยการเผาทำลาย และช่วยลดการเกิดปัญหาหมอกควัน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายในการใช้ BCG Model ด้วยกระบวนการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area – Based) มีการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกทั้งมิติพื้นที่ คน และสินค้า ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม พัฒนาตามความต้องการของพื้นที่ บูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดจากฐานการพัฒนาที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน โดยมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของไทยสู่ 3 สูง ได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องด้วยจังหวัดตาก มีพื้นที่ปลูกต้นหมากมากกว่า 10,000 ไร่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต การกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำการเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่คือการเผาทำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟป่าและปัญหาหมอกควัน หรือ PM 2.5 ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นแรงจูงใจให้มีแนวคิดในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน “โฮมฮักตาก” โดยวิสาหกิจชุมชนโฮมฮักตาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เริ่มจากเป็นกลุ่มผู้ผลิตภาชนะกาบหมากเล็กๆ ภายในจังหวัดตาก โดยมีแนวความคิดในการแยกขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน จากการเป็น “ผู้ใช้” ที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และผันตัวมาเป็น “ผู้ผลิต” ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเล็งเห็นว่าในพื้นที่จังหวัดตากมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายอย่างที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ใบไม้แห้ง กาบไผ่ และกาบหมาก เป็นต้น โดยกลุ่มได้มุ่งเน้นวัตถุดิบหลักไปที่ “กาบหมาก”
สำหรับวิสาหกิจชุมชนโฮมฮักตาก ได้นำ BCG Model มาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำการเกษตร โดยนำกาบหมากมาผลิตเป็นภาชนะใส่อาหารและบรรจุภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ “HomeHug รักษ์โลก” การทำปุ๋ยหมัก น้ำส้มควันไม้ ถ่านดูดกลิ่น (Char Leaf) และถ่านไบโอชาร์กาบหมาก จากเศษกาบหมากที่เหลือจากการทำบรรจุภัณฑ์ โดยมีการเข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สบู่จากถ่านไบโอชาร์กาบหมาก และผลิตภัณฑ์แชมพูอาบน้ำสัตว์จากน้ำส้มควันไม้กาบหมาก อีกทั้งยังพัฒนาระบบการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยไม่มีการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิต และยังมีเป้าหมายที่จะผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้กระบวนการผลิตที่สร้างขยะเป็นศูนย์ “Zero Waste Production” ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ เป็นการขับเคลื่อน BCG Model ในส่วนของ Circular Economy และ Green Economy คือ สามารถลดต้นทุนในการผลิตมีการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างรายได้จากวัตถุดิบในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
……………………………………..