กรมการค้าภายใน เดินหน้านำผู้ประกอบการรับซื้อมะม่วงฟ้าลั่นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นฤดูกาล ในราคา นำตลาด ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลของผลไม้อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านกลไกอมก๋อยโมเดล และกระจายออกสู่ตลาดปลายทาง ภายใต้โครงการ “Fruit Festival 2023” เพื่อนำผลผลิตไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป มั่นใจสามารถดันราคามะม่วงปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5-19 เมษายน 66 กรมฯ ได้ นำผู้ประกอบการเข้ารับซื้อมะม่วงฟ้าลั่นที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 66 แล้วกว่า 4,000ตัน และจะขยายเข้ารับซื้อในจังหวัดอื่นๆเพิ่มเติมหากมีผลผลิตออกมากหรือล้นตลาด เพื่อช่วยหาตลาดและระบายผลผลิตมะม่วงให้กับพี่น้องเกษตรกร อาทิ จะจัดให้มีการเปิด Pre-order มะม่วง ผ่านนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และนำไปเปิดจุดจำหน่ายในแหล่งชุมชนต่างๆ ที่ยังมีพื้นที่ให้ได้เข้าถึง พร้อมทั้งจะมีการจัดงาน “Fruit Festival 2023” อย่างยิ่งใหญ่เป็นปีที่ 2 เพื่อรณรงค์และกระตุ้นให้มีการบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
จากการที่กรมฯ ได้นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตมะม่วงฟ้าลั่น ตั้งแต่ต้นฤดูและกระจายออกนอกแหล่งผลิตอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้ราคามะม่วงฟ้าลั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 9-10 บ./กก. สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ 6-7 บ./กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้ ปัจจุบันอยู่ที่ 30 บ./กก. สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ 25 บ./กก. เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ซึ่งที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตมะม่วงในภาพรวมจะมีปริมาณรวม 1.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4% กรมฯ จึงได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตมะม่วง และได้เดินหน้าโครงการ “อมก๋อยโมเดล” ควบคู่ไปกับโครงการ “Fruit Festival 2023” พร้อมกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลผลิตปี 2566 โดยได้นำผู้ประกอบการผู้ส่งออก และห้างค้าส่ง-ค้าปลีก จำนวน 12 ราย ได้แก่ ห้าง แม็คโคร บิ๊กซี โลตัส เดอะมอลล์ และ ท็อปส์ บริษัท เรด เลม่อน จำกัด บริษัท เอ็ม ที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด บริษัท นานา ฟรุ๊ต จำกัด บริษัท สตูดิโอ จีบาร์ จำกัด บริษัท แอลเคมมิสท์ จำกัด บริษัท มิสเตอร์ฟรุ๊ตตี้ จำกัด และบริษัท วันพิษณุโลก จำกัด รับซื้อผลผลิตมะม่วงปริมาณกว่า 16,000 ตัน ในราคานำตลาดจากเกษตรกร จำนวน 10 กลุ่ม 7 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง อ.สากเหล็ก (ต.คลองทราย ต.วังทับไทร) อ.เมือง (ต.บ้านบุ่ง) อ.ดงเจริญ (ตำบลสำนักขุนเณร) อ.วังทรายพูน (ต.หนองปลาไหล ต.วังทรายพูน) และจ.พิษณุโลก กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง อ.เมือง(ต.บ้านคลองวังเรือ) อ.วังทอง (ต.ชัยนาม) อ.เนินมะปราง (ต.บ้านวังน้ำบ่อ ต.บ้านลำภาศ)
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เชื่อมโยงผู้ประกอบการในส่วนท้องถิ่น เช่น ชมรมทายาทท้องถิ่น เข้าไปรับซื้อมะม่วงจากเกษตรกร แล้วนำมาเปิดจุดจำหน่ายในห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ และเข้าไปรับซื้อเพื่อนำมาจำหน่าย ในโมบายพาณิชย์ 100 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วย โดยจะเป็นการเปิดจุดจำหน่ายในชื่อ Fruit Festival 2023
และก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 ตามนโยบาย ของท่านรองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) โดยมีมาตรการทั้งสิ้น 22 มาตรการ ดูแลตั้งแต่การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และด้านกฎหมาย เพื่อดูแลผลผลิตผลไม้ ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดประมาณ 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% โดยได้เตรียมมาตรการหาตลาดล่วงหน้าไว้ รวมกว่า 700,000 ตัน และตั้งเป้าผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% รวมทั้งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน โลจิสติกส์ สายการบิน ผู้แทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลผลไม้ ปี 2566 ไว้แล้ว