ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร มีภารกิจด้านการจัดหาแหล่งน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในทุกภาคส่วน จึงได้เน้นย้ำเรื่องการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกันดำเนินการ รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้น้ำให้เกิดคุณค่ามากที่สุด พี่น้องเกษตรกรและประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเพิ่มต้นทุนน้ำในอนาคต เป็นการเตรียมความพร้อมลดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

“จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ขอยืนยันว่า กรมชลประทานได้เตรียมแผนจัดสรรน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ไว้เพียงพอ ส่วนน้ำภาคการเกษตร ขอฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรให้ช่วยกันรักษาและใช้น้ำอย่างมีคุณค่ามากที่สุด ทั้งนี้ขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมชลประทานทุกคน ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ปัญหาเพื่อประชาชนและประเทศชาติ และก้าวสู่ปีที่ 122 อย่างมั่นคง” รมว.เกษตรฯ กล่าว

 ด้าน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานก้าวสู่ทศวรรษที่ 13 ยังคงยืนหยัด และยึดมั่นในการดําเนินงานตามภารกิจ สร้างความมั่นคงด้านน้ํา เพื่อความมั่งคั่งของผลผลิตทางการเกษตร และเพื่อความยั่งยืนของพี่น้องเกษตร และประชาชน ตามภารกิจหลักภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้กว่า 49.5 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 93,655 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจากน้ำ รวมไปถึงมุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ Water Security เพิ่มคุณค่าการบริการ ก้าวสู่องค์กรอัจฉริยะภายในปี 2580 ตาม Road Map การดำเนินงานทั้ง 4 เฟส เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่

เฟส 1 (2561-2565) “เสริมพลังใหม่สู่การปรับเปลี่ยน” มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และโครงการพระราชดำริ ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายโครงการ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้รวม 1,292.50 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.94 ล้านไร่

เฟส 2 (2566-2570) “สร้างภาคีเครือข่ายและความร่วมมือ” มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการควบคุมและบริหารน้ำระบบอัจฉริยะ ก่อสร้างระบบชลประทานด้วยนวัตกรรมชั้นสูง สร้างระบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง

เฟส 3 (2571-2575) “ปฏิรูปรูปแบบกระบวนงาน” Smart Water Operation Center

และเฟส 4 (2576-2580) “มุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ” พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ ระบบชลประทานครบสมบูรณ์