มาตรการรับมือ เอลนีโญ่ ของภาครัฐและภาคเอกชน

ภาครัฐ

เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังปัญหา เพื่อนำมาปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพื่อจัดสรรกระจายการใช้น้ำอย่างทั่วถึงและลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามผลการดำเนินงานมาตรการรับมือฤดูแล้ง และหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติยังได้เตรียมแผนปฏิบัติการในการรองรับไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน อาทิ คาดการณ์เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ทบทวนปรับปรุงเกณฑ์ บริหารจัดการในแหล่งน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลประทาน ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติ รวมถึงเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝนเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในฤดูแล้งในปีต่อไปด้วยเช่นกัน

กรมชลประทานยังประชุมหารือถึงการวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง พร้อมวางแนวทางรับมือฤดูฝนปี 2566 โดยจะติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2565/2566 และการปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 รวมทั้งเตรียมรับมืออุทกภัย ผ่านการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยจะกำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา

ภาคเอกชน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้มีการทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เสนอให้เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว นอกจากนี้ ที่ประชุม มองว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

เสนอรัฐเร่งจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ จัดการน้ำให้เพียงพอเพื่อไม่ให้กระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและกระทบต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกหลักของประเทศ อาทิ ข้าว น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพดหวาน เป็นต้น นอกจากนั้นต้องเร่งการเจรจาเปิดตลาดใหม่ และยกระดับอุตสาหกรรมในภาครวมตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะตามมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ เช่น ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งจากค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเฉลี่ยประมาณ 5-10% หากไทยได้รับผลกระทบภัยแล้งและน้ำน้อยจะยิ่งส่งผลต่อด้านต้นทุนสินค้าและการแข่งขันในตลาดการส่งออก ภาคเอกชน แนะ เกษตรกร และ ผู้ประกอบการ ควรวางแผนการผลิตให้ดี โดยเฉพาะด้านเกษตรกรควรรับมือกักเก็บสำรองน้ำไว้ เพราะถ้าไปเก็บช่วงเสี่ยงน้ำน้อย น้ำจะมีราคาแพง และจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรจะออกน้อยลง และต้องติดตามเกาะติดปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิดใกล้ชิด

คาดการณ์ผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผลผลิตพืชไร่ที่เป็นวัตถุดิบจะเสียหาย ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปได้ประสานขอความอนุเคราะห์จาก ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยพิจารณาจัดทำฝนหลวงมาช่วยในแหล่งปลูกในสับปะรดและข้าวโพดหวาน เนื่องจากภัยแล้งและปรากฎการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบด้านผลผลิตได้  สับปะรด ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะแล้งรุนแรง ทำให้พื้นที่ปลูกสับปะรดได้รับผลกระทบอย่างมากนับจากปลายปี 2565 1.4 ล้านตันเสียหายประมาณ 40% ส่วนปี 2566 คาดว่าสับปะรดจะมีปริมาณ 1  ล้านตัน หรือลดลง 29 % ในช่วง 5  เดือนแรก 2566 มีผลผลิตเข้าสู่โรงงานแล้ว 4.2 แสนตัน โดยทางกรมฝนหลวงมีการดำเนินการปฎิบัติการฝนหลวงให้แก่กลุ่มสับปะรดแล้ว แต่ปริมาณน้ำฝนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ข้าวโพดหวาน ทางสมาคมได้ประสาน กรมฝนหลวง เพื่อขอให้มีการจัดทำฝนเทียม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้พร้อมสำหรับฤดูการผลิตต่อไปในช่วงครึ่งปีหลังปี คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีปริมาณ 6.6 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ53 จากปี 2565 ที่มีปริมาณผลผลิต 4.3 แสนตัน  ในช่วง 5 เดือนแรก 2566 มีผลผลิตเข้าสู่โรงงานแล้วจากปี 2565 ที่มีผลผลิต 2.8 แสนตัน  อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 จากเอลนีโญจะทำให้ฝนทิ้งช่วง น้ำฝนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหาย

ที่มา:บทสัมภาษณ์คุณ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย : นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป