คณะต่างๆในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังระหว่างคณะเพื่อสร้างมิติใหม่แห่งวงการการศึกษา โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี นำเสนอหลักสูตรทางด้านธุรกิจให้กับคณะแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะอื่นๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรใหม่เพื่อสร้างบัณฑิตใหม่ที่นอกจากจะมีปริญญาจากศาสตร์เฉพาะทางทั้งกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ แล้ว ยังมีโอกาสได้ปริญญาทางธุรกิจเพิ่มเป็นการปูทางสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ในโลกอนาคต
การบูรณาการข้ามศาสตร์จากระดับปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ภายในจุฬาลงกรณ์ฯ สามารถลงควบปริญญาโทภายใต้ชื่อ MSB (Master of Science in Business) ต่อได้เลย ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญครั้งแรกในการบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตสาขาอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีได้เรียนควบคู่ปริญญาโททางธุรกิจอีกเพียง 1 ปีเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงาน
ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือ Chulalongkorn Business School (CBS) จุฬาฯกล่าวว่า หลักสูตรนี้จะได้นำเสนอความรู้แนวปฏิบัติจริง การทำแผนธุรกิจจริง และประสบการณ์ที่จะได้รับการถ่ายทอดจาก CEO ชั้นนำระดับประเทศ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับศาสตร์เดิมที่เรียนอยู่ถือเป็นการติดปีกความรู้ทางธุรกิจ โดยนำเสนอให้กับทุกคณะฯของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าความร่วมมือนี้เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของแพทย์ในปัจจุบัน ที่เมื่อจบออกไป ส่วนหนึ่งต้องปฏิบัติงานเป็นผู้บริหารสถานพยาบาลร่วมกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึง จำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจและศาสตร์ทางการบริหาร หลักสูตรนี้จะเสริมสร้างความแตกต่างของหลักสูตรแพทย์ศาสตร์ของจุฬาฯ ให้ผู้เรียนสามารถเลือกที่จะเพิ่มทักษะและความรู้ในศาสตร์ที่ตนเองสนใจได้
ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าสัตวแพทย์ที่จบจากจุฬาฯ ที่ผ่านมามีความต้องการที่จะเสริมสร้างความรู้ทางธุรกิจ หลักสูตรที่มีการบูรณาการกับศาสตร์ด้านสัตวแพทย์จะตอบโจทย์ตลาดแรงงานในปัจจุบันที่ต้องการบัณฑิตที่มีทักษะครบเครื่องและรอบด้าน และนี่คือหลักสูตรปริญญาของสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯที่สามารถต่อปริญญาโททางธุรกิจได้ทันที
รองศาสตราจารย์ ดร.ปาลนี อัมรานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ศาสตร์ทางด้านสหเวชศาสตร์ ปัจจุบันมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก บัณฑิตคณะสหเวชศาสตร์นอกจากมีองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมของศาสตร์ทางด้านสหเวชฯ องค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจมีความจำเป็นอย่างมากในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และการประกอบอาชีพ การเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจเพิ่มเติมจะช่วยเสริมส่งให้บัณฑิตคณะสหเวชศาสตร์ ได้องค์ความรู้ครบทุกมิติที่จำเป็น ตลอดจนช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต
ศาสตราจารย์ ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ศาสตร์ทางด้านทันตแพทย์ในปัจจุบันเปิดกว้างมากกว่าจะเป็นแค่ศาสตร์ทางด้านทันตกรรม การเพิ่มองค์ความรู้ทางด้านการบริหาร นวัตกรรม การตลาด การสื่อสารทางธุรกิจของความร่วมมือของคณะต่างๆในหลักสูตรนี้จะเป็นการสร้างความทันสมัยและสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรของทันตแพทย์ จุฬาฯให้มีความแตกต่างกับศาสตร์เดียวกันจากทันตกรรมที่อื่นที่ผู้เรียนจะได้มีแนวคิดการเป็นผู้บริหารทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน มีทักษะทางธุรกิจประกอบการบริหารควบคู่กันไปด้วย
ความร่วมมือของห้าคณะดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากสำหรับนิสิตในการเสริมองค์ความรู้ด้านธุรกิจให้กับนิสิตของคณะ และลดระยะเวลาศึกษาลงด้วย ตลอดจนเกิดความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ข้ามคณะ นำมาซึ่งการพัฒนาความรู้และ การบูรณาการข้ามศาสตร์ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้คณบดีทั้งห้าคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หลักสูตรปริญญาตรีควบโท MSB ( Master of Science in Business) หลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ตอบรับตลาดแรงงานในเรื่องการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ และโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning) ที่นิสิตสามารถโอนหน่วยกิตจากปริญญาตรีสู่ปริญญาโทได้เลย เพื่อเพิ่มทักษะเตรียมตัวเป็นผู้ประกอบการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ CEO ระดับประเทศ และการทำแผนธุรกิจจริง
โดยหลักสูตร MSB นี้เป็นหลักสูตรแบบ “Almost” MBA ที่รับเฉพาะนิสิตปริญญาตรีที่ไม่มีประสบการณ์ทำงาน (ผ่านหน่วยกิตรวมระดับปริญญาตรี 120 หน่วยกิต) และประสงค์เรียนต่อเนื่องเพื่อรับปริญญาโทสาขาธุรกิจภายใน 1 ปี องค์ความรู้ประกอบด้วย 5 ศาสตร์วิชาหลัก ได้แก่ Accounting, Finance, Management, Marketing, Statistics and Data Science และโอกาสพิเศษจากวิชาใหม่ล่าสุดเพื่อจุดประกายการปั้นนักวิทยาศาสตร์ให้เป็นนักธุรกิจ ด้วยวิชา CEO Experience Sharing ตั้งแต่ต้นหลักสูตร ตลอดจนเรียนรู้การทำแผนธุรกิจ (Business Plan)ได้อย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืน ตลอดจนสร้างความแตกต่างของบัณฑิตและมหาบัณฑิตจุฬาฯ ให้มี Competitive advantages ผ่าน Business mindset การบูรณาการข้ามศาสตร์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน