นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และคาดการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลให้ในบางพื้นที่จะประสบกับสภาวะขาดแคลนน้ำ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำวิธีดูแลพืชผักในช่วงฤดูแล้ง โดยเกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชผักให้เหมาะสม สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ แม้พืชผักจะเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ดูแลรักษาง่าย แต่เกษตรกรจำเป็นต้องรู้จักวิธีจัดการแปลงผักของตนเอง ดังนั้น การปลูกพืชผักในช่วงนี้จึงต้องมีวางแผนการผลิตให้ดี และให้ความสำคัญกับการดูแลรักษา โดยเกษตรกรสามารถปฏิบัติตามง่ายๆ ดังนี้
1) ให้น้ำตามความต้องการของพืชผัก เน้นตามช่วงระยะการเติบโตของพืช และให้น้ำแบบประหยัด แต่เพียงพอกับความต้องการของพืช โดยช่วงที่พืชผักมีความต้องการน้ำมากที่สุดโดยฉพาะผักทานผล คือช่วงระยะแทงช่อดอก ผสมเกสร ติดผลอ่อน และระยะการเจริญเติบโตของผล โดยสังเกตอาการพืช และดินที่โคนต้น เมื่อต้นพืชผักเริ่มจะเหี่ยวเฉา และดินเริ่มแห้ง จำเป็นต้องให้น้ำแก่พืช หากไม่รีบให้น้ำจะทำให้พืชเสียหายชะงักการเจริญเติบโต ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต พืชออกดอกน้อยลง ผลผลิตลดลง รูปทรงบิดเบี้ยว เป็นต้น และให้น้ำอย่างเพียงพอกับความต้องการของพืชไม่มากหรือน้อยเกินไป ควรรดน้ำในช่วงเช้าหรือเย็น และหลีกเลี่ยงการรดน้ำในช่วงที่มีแดดแรง ควรใช้ระบบน้ำหยดหรือสปริงเกอร์เพื่อประหยัดน้ำ และลดการระเหยของน้ำ
2) การรักษาความชื้นในพื้นที่ และลดการคายน้ำของพืช ด้วยการคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดิน ช่วยให้รากพืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและลดการระเหยของน้ำในดิน เช่น ใช้พลาสติกคลุมดินหรือใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เช่น ฟาง เศษใบไม้ แกลบ ชานอ้อย ขี้เลื้อย หรือปลูกพืชคลุมดิน
3) ปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีโครงสร้างดินดี เหมาะสมกับการอุ้มน้ำและความชื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินที่มีลักษณะปนทรายต้องเพิ่มอินทรียวัตถุเพื่อปรับโครงสร้างให้ร่วนซุยอุ้มน้ำได้ดี
4) ป้องกันสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการสูญเสียความชื้นได้ง่าย โดยไม่ให้แปลงปลูกพืชได้รับแสงแดดจัดหรือลมแรงเกินไป จึงควรมีการปลูกไม้บังลม และลดความเข้มของแสงแดดด้วยการพรางแสง
5) การตัดแต่งกิ่งและใบ เพื่อลดการคายน้ำของพืชและลดปัญหาโรคแมลงศัตรูพืช ผักที่สามารถตัดแต่งได้ ได้แก่ มะเขือเปราะ ฟัก มะระ แตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว ฟักทอง เป็นต้น
6) ระวังป้องกันศัตรูพืชผักในช่วงแล้ง เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยต่าง ๆ
7) เลือกปลูกผักที่เหมาะสมกับช่วงฤดูแล้งที่มีน้ำน้อย และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โรคและแมลงในฤดูแล้งได้ดี เช่น คะน้า ผักสลัด มะเขือเทศ เป็นต้น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/67 ให้เหมาะสม กับปริมาณน้ำในพื้นที่และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึง เกษตรกรควรผลิตพืชให้มีความปลอดภัยตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม และควรจดบันทึกเพื่อให้ทราบรายได้จากการปลูกผักในช่วงแล้ง เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการประกอบอาชีพของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังฝากให้เกษตรกรเตรียมการสํารองน้ำหรือกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดฤดูกาลสำหรับการปลูกพืช และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ ของเกษตรกรอีกด้วย